หน้าหลัก ประวัติและสถานที่ติดต่อ วัตถุประสงค์ ตำรา หนังสือ ผลงานวิจัย บทความ ผลงานอื่น

 

 
  
 
 
 

คำนำ

    ศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีความสำคัญยิ่ง เห็นได้จากเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองและการบริหารของไทยที่รัฐธรรมนูญไทยได้จัดตั้งองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระเรียกว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” ขึ้นโดยบัญญัติให้มีอำนาจหน้าที่อย่างกว้างขวาง ซึ่งรวมทั้งการทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ปฏิรูปการเมือง และรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย ในส่วนของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีความสำคัญ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ

     ในช่วงปี พ.ศ. 2544-2545 คณะผู้ศึกษาวิจัย ได้รับมอบหมายจาก สมาคมรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนและได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิอาเซีย ให้ศึกษาวิจัย เรื่อง “การวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 1 (ปี 2545)" (จัดพิมพ์ไว้ใน 1 เล่ม คือ เล่มที่ 1 ส่วนที่ 1 ตั้งแต่คำวินิจฉัยที่ 1/2541 ถึง คำวินิจฉัยที่ 31/2543 รวม 101 เรื่อง) ต่อมาในปีช่วง 2545-2546 คณะผู้ศึกษาวิจัยได้รับมอบหมายให้ศึกษาวิจัย เรื่อง “การวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 2 (ปี 2546)”  (จัดพิมพ์ไว้ใน 4 เล่ม ได้แก่ เล่มที่ 1 ส่วนที่ 2, เล่มที่ 2 ส่วนที่ 1, เล่มที่ 2 ส่วนที่ 2, และเล่มที่ 2 ส่วนที่ 3 นับตั้งแต่คำวินิจฉัยที่ 32/2543 ถึง คำวินิจฉัยที่ 51/2544 รวม 84 เรื่อง) ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยต่อเนื่องจากช่วงแรก ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในทางวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเรียนการสอนด้านรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายมหาชนซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งแต่ประเทศไทยยังขาดการวิเคราะห์เชิงวิชาการโดยนักวิชาการอิสระนอกเหนือจากการพิมพ์คำวินิจฉัยในราชกิจจานุเบกษาและการพิมพ์รวมเล่มโดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเพื่อประโยชน์ในทางปฏิบัติ เช่น เสนอข้อเท็จจริงและความคิดเห็นทางวิชาการต่อศาลรัฐธรรมนูญ หน่วยงานและคณะบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น วุฒิสภา และคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการคัดเลือกและแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในอนาคต ช่วยให้องค์กรที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยเตรียมคำร้องได้ตรงประเด็นและชัดเจน ช่วยเสริมหรือชี้นำสำหรับการพัฒนาที่ระบบ โดยเฉพาะโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ตลอดจนช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้ประชาชน และนำไปสู่การศึกษาวิจัยต่อเนื่องด้วย

     โครงการศึกษาวิจัยครั้งที่ 2 นี้ ได้ดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกับครั้งที่ 1 เพื่อให้เป็นระบบเดียวกัน โดยมิได้เป็นลักษณะของการนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนมารวบรวม เรียบเรียง แล้วเขียนบรรยายหรือพรรณนา พร้อมวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือการใช้ดุลพินิจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน แต่คณะผู้ศึกษาวิจัยได้ให้สัดส่วนของการวิจัยเอกสารมากเป็นพิเศษและทำให้มีความชัดเจนมากกว่าครั้งที่ 1 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้เสนอผลการวิจัยในลักษณะวิเคราะห์ประเด็นสำคัญในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและในคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ประกาศเฉพาะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฝ่ายเสียงข้างมากโดยไม่ระบุชื่อตุลาการที่เป็นฝ่ายเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อยว่าแต่ละคนได้วินิจฉัยประเด็นใดไว้บ้าง ขณะเดียวกัน คณะผู้ศึกษาวิจัยก็ได้ทำวิจัยสนาม โดยใช้แบบสอบถามเพื่อให้กลุ่มตัวอย่างที่มีคุณสมบัติพิเศษผู้เชี่ยวชาญสาขานิติศาสตร์ สาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ และผู้สันทัดกรณีทางการเมืองการปกครองและการบริหารตอบ แล้วนำผลการวิจัยเอกสารและการวิจัยสนาม โดยเฉพาะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนมาจัดกลุ่ม แยกประเภท และวิเคราะห์ในแง่มุมต่าง ๆ อย่างละเอียดและเป็นระบบ ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และขอบเขตของการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ที่ต้องการวิเคราะห์ภูมิหลังตลอดจน ปรัชญาและแนวคิดทางกฎหมายและรัฐศาสตร์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นอย่างไร พร้อมกับเสนอแนะผลการศึกษาวิจัยที่สามารถใช้เสริมหรือชี้นำสำหรับการพัฒนาโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ การพัฒนาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการพัฒนาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

      การศึกษาวิจัยในครั้งมีส่วนที่เพิ่มเติมเนื้อหาสาระมากกว่าครั้งที่ 1 เช่น จัดทำตารางดัชนีสรุปคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2541-2544 รวม 185 เรื่อง เพื่อประโยชน์ใช้การอ้างอิงและค้นหา และนำคำวินิจฉัยประเภทเดียวกันหรือใกล้เคียงกันมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกัน เป็นต้น การวิเคราะห์อย่างละเอียด เช่น ในเรื่องภูมิหลัง การลงคะแนนเสียงของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนในทุกคำวินิจฉัย การเข้าร่วมหรือไม่ได้เข้าร่วมเป็นองค์คณะในคำวินิจฉัยใดบ้าง ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องหรือปัญหาประเภทใดไว้พิจารณาวินิจฉัยมากที่สุด และศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาเท่าใดในการวิเคราะห์คำวินิจฉัยแต่ละเรื่อง รวมตลอดทั้งการเพิ่มเติมเนื้อหาสาระดังกล่าว เหล่านี้ ย่อมมีส่วนทำให้จำนวนหน้าของโครงการศึกษาวิจัยครั้งนี้เพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งทางมูลนิธิอาเซียได้กรุณาสนับสนุนให้จัดพิมพ์แยกเป็น 4 เล่มดังกล่าว เพื่อช่วยให้โครงการศึกษาวิจัยได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ คณะผู้ศึกษาวิจัยขอเสนอให้ศึกษาตามขั้นตอน ดังนี้

  1) "สรุปและวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน ตั้งแต่คำวินิจฉัยที่ 32/2543 ถึง คำวินิจฉัยที่ 51/2544 รวม 84 เรื่อง" จากบทที่ 2 การวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยส่วนบุคคล ในบทนี้จะทำให้รู้และเข้าใจคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนอย่างเป็นระบบและเป็นรูปแบบเดียวกัน เพราะเป็นการยากที่จะไปเปิดหาหรือค้นหาคำวินิจฉัยแต่ละเรื่องจากราชกิจจานุเบกษา หรือเปิดดูจากอินเตอร์เน็ท (internet) เช่น เว็บไซท์ (website) http://203.113.93.8/mhead.htm ของส่วนงานราชกิจจานุเบกษา สำนักนายกรัฐมนตรี และ  www.concourt.or.th ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีจำนวนไม่ครบทุกคำวินิจฉัย บางคำวินิจฉัยมีจำนวนหน้ามาก และต้องใช้เวลามาก ดังนั้น การสรุปและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบจะเป็นประโยชน์ พร้อมกับเป็นพื้นฐานเพื่อนำไปสู่การศึกษาค้นคว้าอย่างเจาะลึกต่อไป

     2) "ผลการวิจัยที่มีรายละเอียดสมบูรณ์" (full report) จากบทที่ 3 ผลการวิจัยเอกสาร และบทที่ 4 ผลการวิจัยสนาม

     3) "ผลการวิจัยฉบับย่อ" (short report) จากบทที่ 5 สรุปและข้อเสนอแนะ หรือจากบทสรุปสำหรับผู้บริหาร (executive summary) ซึ่งอยู่ในภาคผนวก

      ในอนาคตอาจบันทึกข้อมูลของโครงการศึกษาวิจัยทั้งหมดไว้ในแผ่นซีดี-รอม (CD-ROM) เพื่อช่วยให้สะดวกในการสืบค้นและเผยแพร่ได้กว้างขวางมากขึ้น

      เหตุผลหรือแรงจูงใจหลายประการที่ทำให้คณะผู้ศึกษาวิจัยทำวิจัยเรื่องนี้ ประการที่หนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ทันสมัย และสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศไทยที่เพิ่งมีการจัดตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่ปกครองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและรักษาความศักดิ์สิทธิ์รัฐธรรมนูญที่เรียกว่าศาลรัฐธรรมนูญขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ประการที่สอง การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญของไทยยังมีจำนวนจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญในเชิงการบริหารและการจัดการ เช่น เรื่องโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ มีปรากฏให้เห็นน้อยมาก ประการที่สาม คณะผู้ศึกษาวิจัยต้องการนำความรู้ทางด้านกฎหมาย ด้านรัฐศาสตร์ และด้านการบริหารการจัดการที่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญมาผสมผสานกัน เพราะสอดคล้องกับลักษณะเนื้อแท้ของศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชน การเมืองการปกครองและการใช้อำนาจ รวมทั้งการบริหารราชการแผ่นดินอย่างยิ่ง ประการที่สี่ ความรู้เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญมิใช่เรื่องใหม่สำหรับนักวิชาการ แต่เป็นเรื่องใหม่สำหรับประชาชนทั่วไปที่บางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจ ดังนั้น การศึกษาวิจัยเรื่องนี้จึงพยายามบรรจุความรู้ที่เป็นทั้งข้อเท็จจริงและความเห็นเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อช่วยเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจให้ประชาชน และยังอาจช่วยให้ประชาชนเกิดความมั่นใจและเชื่อมั่นว่าศาลรัฐธรรมนูญไทยมีมาตรฐานเป็นสากล ประการสุดท้าย คณะผู้ศึกษาวิจัยต้องการให้โครงการศึกษาวิจัยเรื่องนี้เป็นผลงานทางวิชาการที่ค้นคว้าหาความรู้อย่างเป็นระบบพร้อมกับสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การ ริเริ่มสร้างแนวคิด หรือรูปแบบ (model) ในการวิเคราะห์คำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้แก่วงวิชาการหรือสังคมอย่างชัดเจน และยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประชาชนอีกด้วย ตัวอย่างเช่น การเก็บรวบรวมสถิติหรือข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และนำเสนอรูปแบบการวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนในอดีต รวมทั้งการวิเคราะห์ปรัชญาและแนวคิดของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในอดีตไว้ในตารางอย่างเป็นระบบ (เหตุ) ลักษณะเช่นนี้ มีแนวโน้มช่วยบ่งบอกหรือพยากรณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และ/หรือ คำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนนั้นในปัจจุบันและอนาคต (ผล) อันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม หน่วยงาน และประชาชน ทั้งในทางวิชาการและทางปฏิบัติดังกล่าวไว้แล้วข้างต้น (โปรดดูภาพที่ 5.1 กรอบแนวคิดที่ใช้ในการศึกษาวิจัย ในบทที่ 5 สรุปและข้อเสนอแนะ)

    เพื่อให้โครงการศึกษาวิจัยนี้นำไปใช้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้น คณะผู้ศึกษาวิจัยจึงพยายามทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถอ่านและเข้าใจโครงการศึกษาวิจัยนี้ได้ง่ายโดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านกฎหมายและด้านการบริหารการจัดการอย่างลึกซึ้ง และหากมีข้อบกพร่องประการใด ยินดีน้อมรับและจะดำเนินการแก้ไขปรับปรุงในโอกาสต่อไป สำหรับสัดส่วนความรับผิดชอบในการทำงานของโครงการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ แบ่งเป็น ผู้อำนวยการโครงการ ร้อยละ 80 นักวิจัยและผู้ช่วย ร้อยละ 20 ส่วนที่ปรึกษาพิเศษของโครงการได้ให้คำแนะนำปรึกษาในทุกบท

     ท้ายสุดนี้ คณะผู้ศึกษาวิจัยขอขอบคุณหน่วยงานและบุคคลดังต่อไปนี้ มูลนิธิอาเซียที่ได้ให้ทุนสนับสนุนทั้งหมด สมาคมรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนและนายกสมาคมทุกท่านที่ให้การสนับสนุนมาตั้งแต่เริ่มแรก รวมทั้งผู้ตอบแบบสอบถามทุกท่านที่ให้ความร่วมมือในการตอบแบบสอบถาม

                                                                                          คณะผู้ศึกษาวิจัย

                                                                                          มีนาคม 2546

                                               สารบัญ

คำนำ

คำนำ โดย ดร. เจมส์ อาร์. ไคล์น

บทคัดย่อ

สารบัญ

บทที่ 1 บทนำ

     1. ความเป็นมาของเรื่องที่ศึกษาวิจัย

     2. วัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัย

     3. สมมติฐานของการศึกษาวิจัย

     4. ขอบเขตและข้อจำกัดของการศึกษาวิจัย

     5. ระเบียบวิธีศึกษาวิจัย

     6. ระยะเวลาและแผนการดำเนินงานศึกษาวิจัย

     7. คณะผู้ศึกษาวิจัย

     8. บทสรุป

บทที่ 2 การวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยส่วนบุคคล

     1. คำวินิจฉัย ปี 2543 จำนวน 33 เรื่อง (คำวินิจฉัยที่ 32/2543 ถึง

         คำวินิจฉัยที่ 64/2543)

         (หัวข้อข้างต้นนี้ อยู่ในเล่มที่ 1 ส่วนที่ 2 นี้

          สำหรับหัวข้ออื่นที่เหลือ อยู่ในเล่มต่อ ๆ ไป)

     2. คำวินิจฉัย ปี 2544 จำนวน 51 เรื่อง

         คำวินิจฉัยที่ 1/2544 ถึง คำวินิจฉัยที่ 19/2544  (อยู่ในเล่มที่ 2 ส่วนที่ 1)

         คำวินิจฉัยที่ 20/2544 ถึง คำวินิจฉัยที่ 51/2544 (อยู่ในเล่มที่ 2 ส่วนที่ 2)

บทที่ 3 ผลการวิจัยเอกสาร

บทที่ 4  ผลการวิจัยสนาม และผลการสัมมนาทางวิชาการเพื่อรับฟังความคิดเห็น

บทที่ 5 สรุปและข้อเสนอแนะ

     1. สรุป

     2. ข้อเสนอแนะ

ภาคผนวก

     ผนวก 1 ตารางดัชนีสรุปคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปี 2541 ถึง 2544

                   รวมทุกคำวินิจฉัย จำนวน 185 เรื่อง

     ผนวก 2 แบบสอบถาม

     ผนวก 3 บทสรุปสำหรับผู้บริหาร โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง “การวิเคราะห์

                   คำวินิจฉัยของศาลและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 1"

     ผนวก 4 บทสรุปสำหรับผู้บริหาร โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง “การวิเคราะห์

                   คำวินิจฉัยของศาลและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 2"

บรรณานุกรม

     1. หนังสือ

    2. บทความ

ประวัติผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิจัย

          (หัวข้อข้างต้นนี้ อยู่ในเล่มที่ 2 ส่วนที่ 3)

 

บทคัดย่อ

ชื่อ                    : โครงการศึกษาวิจัย การวิเคราะห์คำวินิจฉัยของ
                           ศาลและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ครั้งที่ 2

Title                 : Research on Analysis of the Decisions of the Court 
                          and Justices of the Constitutional Court, The Second

คณะผู้ศึกษาวิจัย : รองศาสตราจารย์ ดร. วิรัช วิรัชนิภาวรรณ ผู้อำนวยการโครงการ
                           นายจินดากร บุญมาก นักวิจัย
                           นางสาวบุญทิวา พรเจริญโรจน์ ผู้ช่วย

ปี                      :  2546

         โครงการศึกษาวิจัยต่อเนื่อง ครั้งที่ 2 ปี 2546 นี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อ (1) วิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกเรื่องตั้งแต่ปี 2543-2544 จำนวน 1,236 เรื่อง แบ่งเป็น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 84 เรื่อง (คำวินิจฉัยที่ 32/2543 ถึง คำวินิจฉัยที่ 51/2544) และคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 1,152 เรื่อง (2)วิเคราะห์เปรียบเทียบคำวินิจฉัยที่สำคัญบางเรื่อง ตั้งแต่ปี 2541-2544 (3) วิเคราะห์ภูมิหลังของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ (4) เสนอแนะผลแนวทางการพัฒนาโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ การพัฒนาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญรวมทั้งการพัฒนาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ (5) จัดทำตารางสรุปคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ปี 2541-2544 รวม 185 เรื่อง เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิงและค้นหา

          ระเบียบวิธีวิจัยที่นำมาใช้เป็นลักษณะของการวิจัยเอกสาร และการสัมมนาทางวิชาการเพื่อรับฟังความคิดเห็น  โดยคณะผู้ศึกษาวิจัยได้ให้ความสำคัญและให้สัดส่วนการพิจารณาศึกษาและวิเคราะห์การวิจัยเอกสารมากเป็นพิเศษ การวิจัยเอกสารได้รวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือนเมษายน 2546 ถึง ธันวาคม 2547 รวม 8 เดือน สำหรับการสัมมนาทางวิชาการเพื่อรับฟังความคิดเห็น เป็นการนำเสนอผลการวิเคราะห์วิจารณ์โครงการศึกษาวิจัย ครั้งที่ 2 ปี 2546 (ตั้งแต่คำวินิจฉัยที่ 32/2543 ถึง คำวินิจฉัยที่ 51/2544 จำนวน 84 เรื่อง) โดย นายแพทย์ เหวง โตจิราการ ซึ่งนำเสนอไว้ในการสัมมนาทางวิชาการเพื่อรับฟังความคิดเห็น ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2546 ระหว่างเวลา 09.00 น. ถึง 13.00 น. ณ ห้องประชุมใหญ่คุรุสภา ชั้น 1 อาคารคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร มีผู้เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 100 คน ประกอบด้วย นักวิชาการ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) นักการเมือง นิสิต นักศึกษา ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเอเซีย และสมาคมรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน

          ผลการศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นว่า เมื่อนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในปี 2545 จำนวน 64 เรื่อง มาจัดประเภทของปัญหาหรือคำร้องที่ผู้ร้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย พบว่า ปัญหาการตรวจสอบกฎหมายมีมากที่สุด รองลงมาคือ ปัญหาองค์กรหรือพรรคการเมือง และเมื่อใดก็ตามที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาวินิจฉัยปัญหาการตรวจสอบกฎหมายคำวินิจฉัยมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทิศทางที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมากกว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ในอัตราส่วน 12.2 : 1 และเมื่อใดก็ตามที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาองค์กร หรือพรรคการเมือง คำวินิจฉัยมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทิศทางที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มากกว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” หรือในอัตราส่วน 12.7 : 1

          การวิเคราะห์คำวินิจฉัยส่วนบุคคลยังปรากฏอีกว่า (1) มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 1 คนที่แสดงจุดยืนในการวินิจฉัย โดยมีคำวินิจฉัยที่แตกต่างจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอย่างเด่นชัด (2) มี 1 คน ที่ได้วินิจฉัยหรือออกเสียงอยู่ฝ่ายเสียงข้างมาก "มากที่สุด" คือ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 96.9 (3) มี 2 คน ที่ได้วินิจฉัยหรือออกเสียงอยู่ฝ่ายเสียงข้างมาก “น้อยที่สุด” คือ ร้อยละ 51.6 (4) มี 1 คน เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยหรือเข้าร่วมเป็นองค์คณะครบทุกเรื่อง และ (5) มี 3 คน ที่ไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยมากที่สุด คือ จำนวน 17 เรื่อง เนื่องจากเดินทางไปราชการต่างประเทศพร้อมกัน

          ส่วนคะแนนเสียงขององค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทิศทางที่เป็น "มติเอกฉันท์” (ร้อยละ 56.3) มากกว่า “มติไม่เป็นเอกฉันท์” (ร้อยละ 43.7) ขณะที่คำวินิจฉัยที่ไม่ได้วางบรรทัดฐานมีมากกว่า (ร้อยละ 62.5) คำวินิจฉัยที่วางบรรทัดฐาน (ร้อยละ 37.5) สำหรับระยะเวลาส่วนใหญ่ที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาหรือคำร้องจนแล้วเสร็จ "มากที่สุด" คือ 9-10 12 เดือนขึ้นไป คำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาพิจารณาวินิจฉัยน้อยที่สุด คือ 13 วัน มี 1 เรื่อง ได้แก่ คำวินิจฉัยที่ 15/2545 (วันที่ 25 เมษายน 2545) ประธานรัฐสภา กับ ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกระบวนการพิจารณาถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาในเวลาพิจารณาวินิจฉัยมากที่สุด คือ คำวินิจฉัยที่ 48/2545 (วันที่ 12 กันยายน 2545) นายราเชนทร์ เรืองทวีป กับ ประมวลรัษฎากรฯ ใช้เวลา 2 ปี 5 เดือน 14 วัน

          ในส่วนการพิจารณาศึกษาระยะเวลาระหว่างวันประกาศคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกับวันประกาศคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในราชกิจจานุเบกษา ปรากฏว่า คำวินิจฉัยส่วนใหญ่ใช้เวลา 9-12 เดือน โดยคำวินิจฉัยที่ใช้เวลาน้อยที่สุด มี 4 เรื่อง คือ คำวินิจฉัยที่ 19-22/2545 (วันที่ 30 พฤษภาคม 2545) นายอานุภาพ สัตยประกอบ และผู้ร้องรายอื่น กับ พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบัน การเงินฯ มาตรา 27 และมาตรา 30 ใช้เวลา 7 เดือน 8 วัน ขณะที่คำวินิจฉัยที่ใช้เวลามากที่สุด มี 2 เรื่อง คือ คำวินิจฉัยที่ 48/2545 (วันที่ 12 กันยายน 2545) นายราเชนทร์
เรืองทวีป กับ ประมวลรัษฎากรฯ และคำวินิจฉัยที่ 49/2545 (วันที่ 12 กันยายน 2545) นายกฤษฎางค์ นุตจรัส กับ พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฯ และพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯ ทั้ง 2 เรื่องนี้ใช้เวลาเท่ากัน คือ 10 เดือน 4 วัน

          ในการวิเคราะห์ภูมิหลัง พบว่า ในจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 15 คน ที่ดำรงตำแหน่งในปี 2545 นั้น ทุกคนเป็นชาย และแต่งงานแล้ว อายุของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จนถึงวันที่ 1 มกราคม 2546 พบว่า ไม่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใด อายุต่ำกว่า 60 ปี โดยมีอายุ 60-65 ปี จำนวน 8 คน และอายุ 66-70 ปี จำนวน 7 คน ในส่วนของการศึกษา ทุกคนสำเร็จการศึกษาอย่างน้อยระดับปริญญาตรี และมี 6 คน ที่สำเร็จเนติบัณฑิต มี 3 คน สำเร็จการศึกษาขั้นสูงสุดระดับปริญญาโท และมี 4 คน สำเร็จการศึกษาสูงสุดขั้นสูงสุดระดับปริญญาเอก สำหรับประสบการณ์ในการปฏิบัติราชการ มี 2 คน เคยมีประสบการณ์ในการปฏิบัติราชการในหน่วยงานของฝ่ายนิติบัญญัติ มี 13 คน เคยมีประสบการณ์ในการปฏิบัติราชการในหน่วยงานของฝ่ายบริหาร และมี 7คน เคยมีประสบการณ์ในการปฏิบัติราชการในหน่วยงานของฝ่ายตุลาการ หรือปฏิบัติราชการที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายตุลาการแม้หน่วยงานนั้นจะอยู่ในสังกัดของฝ่ายบริหารก็ตามนอกจากนี้ มี 5 คน เคยมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานในฝ่ายวิชาการ

          ผลการศึกษาวิจัยได้สนับสนุนหรือยืนยันสมมติฐานของการศึกษาวิจัยจำนวน 1 ข้อ ได้แก่ ”โครงสร้างหรือองค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีที่มาและมีจำนวนแตกต่างกัน ย่อมทำให้ทิศทางของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามกลุ่มข้างมากที่เป็นนักกฎหมาย” พบว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา และกลุ่มที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ที่มีคำวินิจฉัยเป็นไปในทิศทางเดียวกันเท่านั้น  แต่ไม่สามารถบอกเหตุผลได้ว่า การที่คำวินิจฉัยเป็นไปในทิศทางเดียวกันของแต่ละกลุ่มนั้นเกิดจากสาเหตุใด แต่ผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะสนับสนุนหรือยืนยันสมมติฐานข้อที่ว่า “ประธานศาลรัฐธรรมนูญมีอิทธิพลต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”

          ในการวิเคราะห์เปรียบเทียบครั้งนี้ ได้นำคำวินิจฉัยตั้งแต่เริ่มแรก คือ ตั้งแต่ปี 2541 ถึง สิ้นปี 2545 มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกัน หรือตั้งแต่คำวินิจฉัยที่ 1/2541 ถึง คำวินิจฉัยที่ 64/2545 โดยเป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 249 เรื่อง และคำวินิจฉัยส่วนบุคคล 3,387 เรื่อง

          เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบคำวินิจฉัย กรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจไม่ยื่นหรือจงใจฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 295 นับแต่ปี พ.ศ. 2541-2545 ซึ่งมีรวมทั้งสิ้น 19 เรื่อง พบว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เข้าร่วมเป็นองค์คณะหรือเข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยครบทั้ง 19 เรื่อง มี 4 คน ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เข้าร่วมเป็นองค์คณะหรือเข้าร่วมวินิจฉัยไม่ครบทั้ง 19 เรื่อง มี 15 คน โดยมี 5 คน วินิจฉัยว่า “จงใจ” ทุกครั้ง ที่เข้าร่วมวินิจฉัย

          สำหรับการวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลตัวเลขที่สำคัญ ปรากฏว่า

                1) ศาลเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญมากที่สุด รองลงมา คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ปฏิบัติหน้าที่เป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง ขณะที่สมาชิกวุฒิสภา และอัยการสูงสุด ไม่ได้ยื่นคำร้องแม้แต่เรื่องเดียว

                2) จำนวนประเด็นหลักของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มี 1 ประเด็นหลักมากที่สุด (ร้อยละ 75.5) รองลงมา มี 2 ประเด็นหลัก

                3) ประเภทของปัญหาที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย มากที่สุด คือ ปัญหาการตรวจสอบกฎหมายมีมากที่สุด รองลงมา คือ ปัญหาองค์กรหรือพรรคการเมือง

                4) แนวโน้มคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่า (1) เมื่อใดก็ตามที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาการตรวจสอบกฎหมาย  คำวินิจฉัยมี
แนวโน้มที่จะเป็นไปในทิศทางที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมากกว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ในอัตราส่วน 6.8 : 1 (2) เมื่อใดก็ตามที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาบุคคลหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คำวินิจฉัยมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทิศทางที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญน้อยกว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ในอัตราส่วน 0.2 : 1 และ (3) เมื่อใดก็ตามที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาองค์กรหรือพรรคการเมือง คำวินิจฉัยมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทิศทางที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมากกว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ในอัตราส่วน 18.2 : 1

                5) คำวินิจฉัยที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน พบว่า ในจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ7 คน ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงเวลาของคำวินิจฉัยครบทั้ง 249 เรื่อง มี 5 คน เป็นตุลาการศาล
รัฐธรรมนูญที่มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา ผลการวิจัยเอกสารส่วนนี้ แสดงให้เห็นแต่เพียงว่า
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกลุ่ม 5 คนที่มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกานี้ มีคำวินิจฉัยเป็นไปในทิศทางเดียวกันในจำนวนมากน้อยเพียงใดเท่านั้น ผลการวิจัยเอกสารครั้งนี้ไม่สามารถบอกเหตุผลได้ว่าการที่คำวินิจฉัยเป็นไปในทิศทางเดียวกันของแต่ละกลุ่มนั้นเกิดจากสาเหตุใด 

                6) การเข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัย กล่าวได้ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 7 คนที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงเวลาของคำวินิจฉัยครบทั้ง 249 เรื่อง นั้น มี 2 คน ไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ได้เข้าร่วมเป็นองค์คณะน้อยที่สุด คือ เพียง 4 เรื่องเท่านั้น และมี 1 คน ไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ได้เข้าร่วมเป็นองค์คณะมากที่สุด คือ จำนวน 27 เรื่อง

                7) คะแนนเสียงขององค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยมติไม่เป็นเอกฉันท์ (ร้อยละ 59.4) มีมากกว่า มติเป็นเอกฉันท์ (ร้อยละ 40.6)

                8) ระยะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาแต่ละเรื่อง ปรากฏว่า ระยะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญจนแล้วเสร็จมากที่สุด คือ 12 เดือนขึ้นไป ส่วนคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาพิจารณาวินิจฉัยน้อยที่สุด คือ 2 วัน มี 2 เรื่องได้แก่ คำวินิจฉัยที่ 1/2541 และคำวินิจฉัยที่ 26/2543 สำหรับคำวินิจฉัยที่ใช้เวลาน้อยรองลงมา คือ คำวินิจฉัยที่ 6/2543 ใช้เวลา 5 วัน ส่วนคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาพิจารณาวินิจฉัยมากที่สุด มี 1 เรื่อง คือ คำวินิจฉัยที่ 48/2545 ใช้เวลา 2 ปี 5 เดือน 14 วัน

               9) คำวินิจฉัยที่วางบรรทัดฐาน แบ่งเป็น คำวินิจฉัยที่ไม่ได้วางบรรทัดฐาน (ร้อยละ 53.0) มากกว่าคำวินิจฉัยที่วางบรรทัดฐาน (ร้อยละ 47.0)

             10) การพิสูจน์สมมติฐาน พบว่า 

                       10.1) ผลการศึกษาวิจัยสนับสนุนและยืนยันสมมติฐาน ที่ว่า  “โครงสร้างหรือองค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีที่มาและมีจำนวนแตกต่างกันย่อมทำให้ทิศทางของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามกลุ่มข้างมาก” (เป็นสมมติฐานของการศึกษาวิจัย ครั้งที่ 1-3) 

                       10.2) ผลการศึกษาวิจัยสนับสนุนและยืนยันสมมติฐาน ที่ว่า “ภูมิหลังที่แตกต่างกันของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีผลต่อทิศทางของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” เช่น ภูมิหลังที่เกี่ยวกับอายุ การต่อสู้เรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมในสังคมอย่างชัดเจน ประสบการณ์ในการทำงาน ตลอดทั้งปรัชญาและแนวคิดทางกฎหมายและรัฐศาสตร์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่อาจจำแนกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ อนุรักษ์นิยม เสรีนิยม และประชานิยม (เป็นสมมติฐานของการศึกษาวิจัย ครั้งที่ 1-2)

                       10.3) ผลการศึกษาวิจัยสนับสนุนและยืนยันสมมติฐาน ที่ว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประชาธิปไตยและการปฏิรูปการเมืองของประเทศ” เช่น มีส่วนช่วยพัฒนาประชาธิปไตยและปฏิรูปการเมือง พิทักษ์ความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ และปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน (เป็นสมมติฐานของการศึกษาวิจัย ครั้งที่ 1-2) และ

                       10.4) ผลการศึกษาวิจัยไม่สนับสนุนหรือยืนยันสมมติฐาน ที่ว่า “ประธานศาลรัฐธรรมนูญมีอิทธิพลต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” และ "ถึงแม้ว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญได้ออกเสียงอยู่ฝ่ายเสียงข้างมาก หรือเสียงข้างน้อย เป็นส่วนใหญ่ก็ตาม แต่ก็ไม่อาจยืนยันได้อย่างแน่นอนและชัดเจนว่า ประธานศาลรัฐธรรมนูญมีอิทธิพลเหนือกลุ่มเสียงข้างมากหรือเหนือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใดหรือมีอิทธิพลต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี อาจกล่าวได้ว่า ประธานศาลรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มที่จะมีแนวคิดหรือมีคำวินิจฉัยที่สอดคล้องกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฝ่ายเสียงข้างมากเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น" (เป็นสมมติฐานของการศึกษาวิจัย ครั้งที่ 1-3

          สำหรับข้อเสนอแนะ ส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ได้เคยเสนอแนะไว้แล้วในโครงการศึกษาวิจัย ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เนื่องจากผลการศึกษาวิจัยออกมาในทิศทางที่ไม่แตกต่างกันมากนัก แม้จำนวนคำวินิจฉัยและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีการเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม ผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้ อย่างน้อยจะมีส่วนช่วยยืนยัน เพิ่มน้ำหนัก และเพิ่มความมั่นใจในผลการศึกษาวิจัยที่ผ่านมาและในครั้งนี้มากขึ้น อย่างไรก็ดี ได้มีข้อเสนอแนะอื่นเพิ่มเติมไว้ด้วย ดังนี้

               1) แนวทางการพัฒนาโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ควรปรับเปลี่ยนจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยยังคงให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วย 15 คนเช่นเดิม แต่เพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์ เป็น 5 คน เท่ากับจำนวนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา และผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์  โดยไม่ควรมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากตุลาการในศาลปกครองสูงสุด สำหรับแนวทางการพัฒนาอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ  คือ (1) จัดการอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่กระจัดกระจายอยู่ให้เป็นหมวดหมู่และชัดเจนขึ้น (2) เปิดโอกาสให้ประชาชนยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงภายใต้เงื่อนไขซึ่งต้องเป็นปัญหาสำคัญและเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ต่อสังคมหรือประชาชนโดยรวม รวมทั้ง (3) ควรมีแนวโน้มการตีความขอบเขตอำนาจของตนในทิศทางกว้างโดยครอบคลุมสังคมไทยทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในลักษณะที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัยและสภาพแวดล้อม

               2) แนวทางการพัฒนาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญ เช่น (1) ควรแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคการเมือง อำนาจหน้าที่นี้ควรเป็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (2) ควรดำเนินการโดยแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วยการขยายความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเพื่อให้ชัดเจน เช่น ถ้อยคำที่ว่า "บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ" มาตรา 266 และ "องค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ" ตามมาตรา 266

               3) แนวทางการพัฒนาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แบ่งเป็น การพัฒนาที่ระบบหรือหลักเกณฑ์ เช่น (1) กระบวนการสรรหาและเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ควรมีหลักเกณฑ์ภายในที่ชัดเจนบริสุทธิ์ ยุติธรรม เปิดเผย ปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ และเปิดโอกาสให้ตรวจสอบได้ (2) ในกระบวนการสรรหาและเลือกบุคคลเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ควรให้ความสำคัญกับประวัติการปฏิบัติงานเพื่อสังคม และควรพิจารณาถึงโยงใยหรือชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลของผู้เข้ารับการสรรหาและเลือกด้วย

          ในส่วนของการพัฒนาโดยประชาชน  เช่น ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคคลหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนรวมทั้งประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง ดูแล และช่วยตรวจสอบการปฏิบัติงานของศาลรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง และแทนที่จะให้ความสนใจผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าออกมาอย่างไรเท่านั้น ประชาชนซึ่งรวมทั้งนักวิชาการควรให้ความสนใจกับการพัฒนาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย

          สำหรับนักวิชาการแทนที่จะนำคำวินิจฉัยมาวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงกฎหมายหรือในเชิงการใช้ดุลพินิจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมเท่านั้นแต่ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย เป็นต้นว่า การพัฒนาที่ระบบหรือหลักเกณฑ์ภายในของกระบวนการสรรหาและเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันการวิ่งเต้นเข้าสู่ตำแหน่ง เพราะเมื่อเข้าไปดำรงตำแหน่งแล้วก็จะไปรักษาผลประโยชน์ของพรรคพวกที่ช่วยวิ่งเต้นเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณกัน นอกจากนี้ ในกระบวนการสรรหาและเลือกไม่ควรให้ความสำคัญกับผู้มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญทางวิชาการหรือทางทฤษฎี โดยละเลยที่จะพิจารณาถึงอุดมการณ์และจิตวิญญาณเพื่อส่วนรวมด้วย เช่น ผู้เข้ารับการสรรหาและเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรมีประวัติที่เคยสนับสนุนการพัฒนาประชาธิปไตยการปฏิรูปการเมืองการปกครองและการบริหารจัดการ ตลอดจนการพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่

**********